ตำราฟ้อนรำ ฉบับเรียบเรียงในหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร

เนื้อหาอย่างย่อ

มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างหนังสือสำหรับพระราชทานแจกเนื่องในพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญ อุทิศพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯพระองค์นั้น ๒ เรื่อง ให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เลือกหาเรื่องหนังสือซึ่งจะเป็นประโยชน์ในทางพระสาสนาเรื่อง ๑ ให้เป็นประโยชน์เนื่องในวิชานาฏศาสตร์ คือการฟ้อนรำ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยได้ทรงเอาพระหฤทัยใส่เสาะสืบตำรับตำราอยู่เป็นนิตย์นั้นเรื่อง ๑ กรรมการหอพระสมุดฯรับสั่งใส่เกล้าฯเลือกได้เรื่องสังคีติยวงศ์เป็นหนังสือส่วนข้างพระสาสนา นำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ก็ชอบด้วยพระราชประสงค์ จึงได้จัดการพิมพ์ขึ้นเป็นสมุดเล่ม ๑ หนังสือสังคีติยวงศ์เป็นอย่างไร แจ้งอยู่ในคำอธิบายข้างต้นหนังสือเรื่องนั้นแล้ว ส่วนเรื่องนาฏศาสตร์นั้นที่ในหอพระสมุดสำหรับพระนครหามีต้นฉบับเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องเดียวที่พอจะพิมพ์ได้โดยลำพังไม่ จำจะต้องคิดรวบรวมแบบแผนบรรดามีในภาษาไทยและภาษาอื่นๆมาแปลปรุงขึ้นใหม่ และจะต้องใช้รูปภาพเป็นพื้น จะทำให้สำเร็จได้โดยยาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯดำรัสสั่งเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งบัญชาการกรมศิลปากร กับเจ้าพระยารามราฆพ ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก ซึ่งบัญชาการกรมมหรศพ ให้ช่วยอุดหนุนกรรมการหอพระสมุดฯ เพื่อให้การรวบรวมและพิมพ์หนังสือเรื่องนี้สำเร็จดังพระราชประสงค์

                ในการเรียบเรียงหนังสือเรื่องตำราฟ้อนรำเล่มนี้ ได้จัดเรื่องเป็น ๓ ตอน ตอนที่ ๑ ว่าด้วยตำนานการฟ้อนรำ ในตอนนี้ได้ให้ศาสตราจารย์เซเดส์ บรรณารักษ์ใหญ่หอพระสมุดฯ ช่วยค้นเรื่องในหนังสือซึ่งมีแปลเป้นภาษาฝรั่ง ให้พราหมณ์กุปปุสสวามี อาจารย์ภาษาสันสกฤตในหอพระสมุดฯ ช่วยค้นตำราในภาษาสันสกฤตที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯเอาเรื่องมาเรียบเรียง และให้นายป่วน อินทุวงศ์ เปรียญ พนักงานในหอพระสมุดฯ เป็นผู้แปลภาษาไทย ตอนที่ ๒ ว่าด้วยแบบตำราฟ้อนรำของไทย ตำรามีอยู่ในหอพระสมุดฯ ๒ ฉบับ เป็นตำราครั้งรัชกาลที่ ๑ ฉบับหนึ่ง แต่ขาดหายเสียมากไม่บริบูรณ์ มีบริบูรณ์ฉบับ ๑ เป็นตำราจำลองขึ้นราวในรัชกาลที่ ๒ ฤาที่ ๓ แต่เป็นภาพร่างไม่งามเจ้าพระยาธรรมาฯจึงให้พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตรกะ) นายช่างเขียนในกรมศิลปากร มาเป็นผู้เขียนภาพขึ้นใหม่ พร้อมด้วยขุนประสิทธิจิตรกรรม (อยู่ ทรงพันธุ์) ช่างเขียนในหอพระสมุดฯ ตอนที่ ๓ ว่าด้วยเพลงรำของลคอนและโขน ตอนนี้ต้องใช้ถ่ายรูปตัวลคอนเป็นพื้น เจ้าพระยารามราฆพ ได้ให้พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ครูลคอนหลวง เลือกตัวลคอนในกรมมหรศพ และมาช่วยจัดท่ารำที่ถ่ายรูป ส่วนรูปยักษ์นั้น พระยาพรหมาภิบาล (ทองใบ มวรรณภารต) ซึ่งเคยเป็นทศกัณฐ์ดีไม่มีเสมอในสมัยเมื่อยังเล่นโขน ได้มีแก่ใจรับแต่งตัวให้ท่าถ่ายรูปลงในตำรานี้ ส่วนพวกลคอนชาตรีนั้น พระยารัษฎานุประดิษฐ (สิน เทพหัสดินทร ณ กรุงเทพ) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ช่วยจัดส่งหมื่นระบำบรรเลง (คล้าย พรหเมศร) ซึ่งเป็นครูลคอนชาตรีมีชื่อเสียงอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราช กับศิษย์ส่งมาให้เป็นผู้ชี้แจง ส่วนการช่าง ตั้งแต่ถ่ายรูปทำแม่พิมพ์และพิมพ์รูปทั้งปวงนั้น พระยาอนุสาสนาพาณิชยการ (แฉล้ม คุปตารักษ์) ปลัดบัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งเคยรับราชการเป็นผู้ช่วยอยู่ในสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย รับเป็นธุรการทุกอย่าง ที่สุดในกิจเรื่องตรวจฉบับและจัดการพิมพ์ หลวงพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) เปรียญ พนักงานการพิมพ์หนังสือในหอพระสมุดฯ ได้รับเป็นธุระแต่ต้นจนปลาย และพระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) รับหน้าที่จัดการเย็บสมุด กรรมการหอพระสมุดฯได้อาศรัยอำนาจพระบารมีปกเกล้าฯ กับทั้งความอุดหนุนของท่านทั้งหลายที่ได้ออกนามมาแล้วนั้น จึงสามารถเรียบเรียงและพิมพ์ตำราฟ้อนรำเล่มนี้สำเร็จได้ดังพระราชประสงค์

                ตำราฟ้อนรำเล่มนี้ เป็นแรกที่จะได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นในหนังสือไทยบางทีจะยังบกพร่องฤาวิปลาสพลาดพลั้งอยู่บ้าง เพราะเวลาที่ทำมีน้อยแต่กระนั้นก็ดี เชื่อว่าหนังสือเรื่องนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ ๓ อย่างนี้เป็นแน่แท้ คือ ทำให้ปรากฏวิธีฟ้อนรำของไทยเราแพร่หลาย ทั้งในประเทศนี้และตลอดไปจนในนานาประเทศอย่าง ๑ รักษาตำราของไทยให้อยู่ถาวรอยู่แก่บ้านเมือง ไม่มีเวลาสาบสูญอย่าง ๑ ผู้ที่ได้หนังสือเรื่องนี้ไปคงจะถวายอนุโมทนาในพระราชดำริห์ให้รวบรวมหนังสือเรื่องนี้พิมพ์ขึ้นทั่งหน้าอย่าง ๑


หมวด: หนังสือหายาก
หมวดรอง: -
ปีที่พิมพ์: 2466
วันที่รับเข้า: 24/05/2018