ประวัติและโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ ตีพิมพ์ในเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงและชำระไว้หลายปีแล้ว โดยเฉพาะประวัติศรีปราชญ์นั้นได้พิมพ์เผยแพร่แล้วหลายครั้ง และเมื่อพิมพ์ใหม่ครั้งใด ก็ต่านิดเติมหน่อยทุกครั้ง มูลเหตุที่จะเรียบเรียงประวัติศรีปราชญ์นี้ขึ้น เนื่องมาจากหม่อมเจ้าทองทีฆายุ ทองใหญ่ พระอาจารย์ประวัติศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งสิ้นชีพิตักษัยไปแล้ว เมื่อมีพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาค้นหนังสือในหอสมุดแห่งชาติเนืองๆ และทรงเมตตาสนทนาปราศรัยซักถามข้าพเจ้า ซึ่งทำงานอยู่ที่นั่นบ่อยๆ ในบรรดาเรื่องที่สนทนาปราศรัยและซักถามนั้นมีเรื่องประวัติของศรีปราชญ์อยู่ด้วยเรื่องหนึ่ง รับสั่งว่าที่เขียนกันไว้ยังไม่ clear รู้ไม่ได้ว่าศรีปราชญ์มีตัวจริงหรือไม่ เกิดเมื่อไหร่ ตายเมื่อไหร่ แล้วทรงชวนให้ข้าพเจ้าค้นคว้าเรียบเรียงขึ้นเสียใหม่ ที่รับสั่งดังนั้น เข้าใจว่าคงจะทรงพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นมา ข้าพเจ้าก็พยายามศึกษาค้นคว้าแล้วเรียบเรียงประวัติศรีปราชญ์นี้ขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ประวัติของศรีปราชญ์ที่เรียบเรียงขึ้นนี้ ไม่มีโอกาสได้ถวาย หม่อมเจ้าทองทีฆายุ ทองใหญ่ เพราะสิ้นชีพิตักษัยเสียก่อน ถ้ามีโอกาสได้อ่าน อาจประทานข้อคิดเห็นบางประการเพิ่มเติมอีกก็ได้ ส่วน “โคลงกำศรวล” นั้น ก็ได้ชำระสอบทานแล้วเขียนลงกระดาษฟุลสแก๊ปไว้สำหรับใช้ศึกษาค้นคว้าเรียบเรียงประวัติของศรีปราชญ์ แต่เมื่อได้เรียบเรียงประวัติศรีปราชญ์เสร็จไปแล้ว ก็เก็บซุกไว้และหายไปเลย มาจนเมื่อไม่ช้านี้เอง ได้ค้นหาหนังสือบางเล่ม บังเอิญพบฉบับพับคั่นอยู่ในหนังสือเล่มหนึ่ง จึงเปิดออกดูด้วยความดีใจ เห็นว่าควรจะได้นำออกเผยแพร่รักษาต้นฉบับไว้ จึงได้จัดพิมพ์ขึ้นในงานสัปดาห์แห่งวรรณคดร ประจำปี ๒๕๐๓ นี้ โคลงกำศรวลนี้ เชื่อและกล่าวกันมาว่า ศรีปราชญ์เป็นผู้แต่ง จึงเรียกกันว่า “โคลงกำศรวลศรีปราชญ์” และกล่าวกันว่าศรีปราชญ์ได้แต่งขึ้นเนื่องในคราวถูกเนรเทศให้ไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช จึงเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “โครงนิราศนครศระรรมราช” แต่งไว้เป็นโครงดั้นบาทกุญชร ตอนที่ไม่ขาดหายนั้น รู้สึกว่าเชื่อมโยงกันด้วยสัมผัสระหว่างโคลงสนิทดีมาก แต่เท่าที่ได้ชำระตรวจสอบต้นฉบับสมุดไทยบรรดามีในหอสมุดแห่งชาติ ไม่ปรากฏว่าสมุดเล่มใดมีโคลงกำศรวลครบบริบูรณ์ บางเล่มมีโคลงนี้แต่ขาดโคลงนั้น บางเล่มมีโคลงนั้นแต่ขาดโคลงนี้ หรือมีด้วยกันและขาดด้วยกัน เป็นอันว่า ไม่มีครบบริบูรณ์สักเล่มเดียว ปรากฏว่าท่านผู้เขียนและคัดลอกลงสมุดไทยแต่ก่อนก็ได้เคยพยายามสืบค้นจะหาให้ครบบริบูรณ์ แต่ก็หาไม่ได้ครบ จึงเขียนเป็นโครงบอกไว้ในสมุดไทย (สมุดโคลงกำศรวลเส้นรงค์ หมายเลข ๑/๑๓๒ และ สมุดเส้นดินสอขาว) ว่า กำศรวลศรีปราชร้าง แรมสมร เสาะแต่ปางนคร ลํแล้ว ไป่กบไป่พานกลอน โคลงท่าน จบนา จวบแต่ต้นปลายแคล้ว หนึ่งน้อยยืมถวายฯ โคลงกำศรวลศรีปราชญ์ มีอรรถรสไพเราะ กิจใจและดำเนินความดีมาก เห็นจะถือกันเป็นโคลงตำราตลอดมาดังจะเห็นได้จากการที่กวีในชั้นหลัง เช่น นายนรินทร์ธิเบศร์ เป็นต้น เมื่อแต่งโคลงนิราศนรินทร์ ก็ดำเนินแนวเช่นเดียวกับโคลงกำศรวลนี้ ในการจัดพิมพ์โคลงกำศรวลศรีปราชญ์ครั้งนี้ ได้พยายามรักษาอักขรวิธีตามต้นฉบับ ดังบอกไว้ในเชิงอรรถหน้า ๒๓ เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาคุ้นกับอักขรวิธีแบบนี้ แล้วใช้เป็นแนวทางที่จะสอบสวนตรวจทานในการอ่านต้นฉบับสมุดไทยด้วยตนเองต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างดี นอกจากนี้ น่าจะพึงใส่ใจไว้ด้วยว่าวรรณคดีย่อมอาศัยเสีย มิใช่ตัวหนังสือ อย่างพึงยึดถืออักขรวิธีในพจนานุกรมมาตัดสินให้มากนัก และถ้าเห็นว่าอักขรวิธีตามที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ขัดนัยน์ตา โปรดอย่าเพิ่งทอดทิ้งเสีย ลองอ่านฟังเสียงหรืออ่านกำหนดเสียงในใจของท่านดู บางทีท่านจะประสบความไพเราะของกวี และเข้าถึงรสนิยมของวรรณคดีโดยแท้จริงก็ได้ เชิญลองดู.
< หน้าหลัก / หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์ / ประวัติและโครงกำศรวล ศรีปราชญ์ >
ประวัติและโครงกำศรวล ศรีปราชญ์
เนื้อหาอย่างย่อ
หมวด: หนังสือหายาก
หมวดรอง: -
วันที่รับเข้า: 29/03/2018