< หน้าหลัก / หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์ / พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓ >

พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓

พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓

เนื้อหาอย่างย่อ

เจ้าพระยาพิชัยญาติ  ได้แสดงความจำนงแก่หอสมุดแห่งชาติ   ใคร่จะได้หนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ  ท่านเจ้าคุณไพบูลย์สมบัติ   ผู้เป็นบิดาหอสมุดแห่งชาติ   มีหนังสือเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง   คือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ  บุนนาค )   เรียบเรียงไว้  และยังไม่มีผู้ใดพิมพ์ขึ้น  หอสมุดแห่งชาติได้เลือกให้พิมพ์ในโอกาสนี้   โดยคำนึงเห็นว่าพิมพ์หนังสือเรื่องนี้  ให้แพร่หลายย่อมเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ  ของสกุลบุนนาค  ให้เด่นชัดว่านอกจากคุณงามความดีหรืออื่นๆ  ที่ได้ทำไว้ให้แก่ประเทศชาติแล้ว   สกุลบุนนาคยังมีผู้ประกอบด้วย  อุตสาหะวิริยะภาพ  จดบันทึกเหตุการณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองไว้  ได้ตลอดรัชกาล ให้เป็นหลักฐาน  ให้ความสะดวกแก่นักศึกษาในชั้นหลังเป็นอย่างดี   เจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ผู้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารฉบับนี้เติบโต  และมีชีวิตอยู่ตลอดรัชกาลที่ 3 โดยรับราชการมียศเป็น จมื่นราชามาต อยู่ในเวลานั้น ตำแหน่งจมื่นราชามาต  ไม่ใช่ตำแหน่งเล็กน้อย  เพราะเมื่อเลื่อนจาก  จหมื่นราชามาต  ก็เป็นเจ้าพระยาทีเดียว  และก็ไม่ได้สำคัญแต่ยศศักดิ์เท่านั้น   หน้าที่การงานก็สำคัญดังปรากฏ  ในสัญญาบัตรว่า ให้จมื่นราชามาดไปช่วยราชการในกรมท่า และช่วยติดต่อธุระ  ทั้งปวงในการรักษาแผ่นดินด้วย   เมื่อพิจารณาตามถ้อยคำในตอนหลังนี้   จะได้ความว่าครั้งยังดำรงตำแหน่ง จมื่นราชามาต  นั้นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีหน้าที่อย่างที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน  เห็นได้ว่าข้อความที่เจ้าพระยา ทิพากรวงศ์เรียบเรียงไว้นี้  ยอมเป็นเรื่องที่   เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้มีส่วนรู้เห็นและปฏิบัติการในหน้าที่อย่าง อยู่ด้วยเป็นส่วนมาก  หนังสือเล่มนี้จึงควรได้รับไว้วางใจใน   ความเที่ยงตรงถูกต้องอาจจะมีข้อผิดพลาดบกพร่อง  ก็คงเป็นส่วนน้อยแต่นักอ่านในสมัยนี้  อาจจะตำหนิวิธีการเขียนว่าไม่ได้แบ่งหมวดตอนให้เห็นชัด   หรือนึกจะแทรกเรื่องอะไรลงไปตรงไหนก็แทรกลงไป  ไม่ติดต่อกัน    ก่อนที่ใครจะตำหนิเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าขอให้คำนึงว่าหนังสือนี้เรียบเรียงอย่างพงศาวดาร   ไม่ได้เรียบเรียงอย่างประวัติศาสตร์นักเรียนสมัยนี้  ย่อมทราบว่าวิธีเรียบเรียงประวัติศาสตร์  ( History ) กับ  พงศาวดาร( Chronicle )   นั้นต่างกันอย่างไรการเรียบเรียงพงศาวดารย่อมจดลงไป   ตามลำดับเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้น   และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์   จดได้ละเอียดดีเรื่องกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เป็นตอนสำคัญตอนหนึ่งในเรื่องประวัติการณ์ของกรุงรัตนโกสินทร์เจ้าพระยาทิพากรวงศ์   เขียนไว้ได้โดยพิสดารการติดต่อกับต่างประเทศ  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ก็เขียนได้ดีเพราะเคยรับราชการในกรมท่า   มีหลายเรื่องอะไรตอนที่เกี่ยวกับจารีตประเพณี เจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ก็ได้อธิบายให้ความสว่างแก่พวกเราในเวลานี้เป็นอันมาก ในการพิมพ์หนังสือนี้ข้าพเจ้าได้ให้ใช้ตัวอักษรตามปทานุกรม ส่วนข้อความหรือถ้อยคำสำนวนนั้นของเดิมมีอยู่อย่างไรให้คงไว้ตามเดิมมิได้เปลี่ยนแปลงเลยมีบางตอนข้าพเจ้าได้ทำหมายเหตุไว้ข้างหน้า นอกจาก นั้น ข้าพเจ้าได้ให้คิดวันเป็นสุริยคติ  คิดปีเป็นพุทธศักราชพิมพ์ไว้ข้างล่าง    เพื่อสะดวกสำหรับนักอ่านสมัยนี้อีกด้วยค่ะ  อนึง หนังสือนี้ฉบับเดิมเขียนติดต่อกันยืดยาว   เกือบจะไม่มีการแบ่งตอนหรือย่อหน้าเสียเลย   ข้าพเจ้าได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตัดตอนและย่อหน้าหนังสือนี้  และเจ้าหน้าที่ได้เขียนหัวข้อขึ้นไว้ทุกๆ   ตอนส่วนสารบัญได้ทำอย่างละเอียด เป็นการแน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้จะให้ประโยชน์อย่างยิ่งแก่นักอ่านนักศึกษา ขอกุศล บุญญราศรี อันดับเพลิงดังเกิดจากการสละทรัพย์และกำลังพิมพ์หนังสือเรื่องนี้แจกจ่ายแพร่หลายเป็นวิทยาทานจงสำเร็จผลในปรภพแด่ท่านเจ้าคุณไพบูลย์สมบัติเพื่อท่านได้ดำรงอยู่ในสุคติทุกเมื่อเทอญ


หมวด: หนังสือหายาก
หมวดรอง: -
วันที่รับเข้า: 27/03/2018