< หน้าหลัก / หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์ / คำบรรยายสัมนาโบราณคดีสมัยสุโขทัย >

คำบรรยายสัมนาโบราณคดีสมัยสุโขทัย

คำบรรยายสัมนาโบราณคดีสมัยสุโขทัย

เนื้อหาอย่างย่อ

กรมศิลปากรได้จัดให้มีการสัมนาทางโบราณคดีขึ้นเป็นครั้งแรก ณ จังหวัดสุโขทัย ระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓ รวม ๗ วัน โดยมีความมุ่งหมายดังปรากฏอยู่ใน “ คํากล่าวเปิดประชุมสัมนาทางโบราณคดี" (หน้า ๕-๑๒) นั้น แล้ว ในการประชุมสัมนาทางโบราคดีครั้งนั้น ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับดียิ่งเกินคาดหมาย จากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดใกล้เคียงที่งานสัมนาทางโบราณคดีของเราเกี่ยวข้องไปถึง ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากพระภิกษุสงฆ์ หนังสือพิมพ์นักศึกษา ประชาชนและชาวจังหวัดนั้น ๆ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวหนังสือพิมพ์และท่านผู้รู้ หลายท่านได้กล่าวสนับสนุนกระตุ้นเตือนกรมศิลปากรขอให้จัดประชุมสัมนาทางโบราณคดีขึ้นในจังหวัดอื่นที่มีโบราณวัตถุสถานและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันน่าเรียนรู้ต่อไปอีก โดยปรารภกันว่า แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการนี้อยู่บ้าง แต่เมื่อคํานึงถึงผลได้ในด้านการศึกษาหาความรู้แล้ว ยังเห็นกันว่าเป็นการเผยแผ่ความรู้อํานวยประโยชน์มากมายหลายด้าน ไม่เฉพาะแต่ทางโบราณคดี ซึ่งทางกรมศิลปากรก็ยินดีรับฟัง ทั้งได้ดําริไว้ และมีโครงการอยู่     แต่การจัดให้มีสัมนาทางโบราณคดี จําเป็นต้องมีเวลาตระเตรียมทางด้านวิชาการ โดยให้เวลาพอสมควร แก่ท่านผู้รู้ที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้มาบรรยายเผยแผ่เป็น สาธารณประโยชน์ ทั้งในการประชุมสัมนาทางโบราณคดี ที่จังหวัดสุโขทัยครั้งนั้น กรมศิลปากรยังไม่สู้มีงานด้านอื่นสับสนมากนัก จึงมีเวลาตระเตรียมงานได้พอสมควร และได้รับความร่วมมือจากท่านผู้รู้เป็นอย่างดี ซึ่งแต่ละท่านได้สละเวลาศึกษาค้นคว้า เรียบเรียงนําเรื่องมาเสนอในที่ประชุม เช่นที่รวบรวมนํามาพิมพ์ไว้ในเล่มนี้ นับว่าแต่ละท่านต่างยินดีเผยแผ่ความรู้เป็นวิทยาทาน นอกจากนั้น คําบรรยายตอนใดที่มีข้อความเคลือบคลุมชวนให้เกิดสงสัย ก็มีท่านผู้รู้ที่เข้าร่วมประชุมสัมนาครั้งนั้น ช่วยซักถามและอภิปรายให้ได้ความกระจ่างแจ้งยิ่งขึ้น หลังจากประชุมสัมนาแล้ว ก็มีผู้ทวงถามว่า เมื่อไรจะจัดพิมพ์คําบรรยาย พร้อมทั้งคําซักถามและคําอภิปรายขึ้นเป็นเล่ม บางท่านถึงกับขันอาสาขอจัดพิมพ์ออกจําหน่ายเผยแพร่ แต่จําต้องรอทําต้นฉบับและรวบรวมภาพถ่ายประกอบเรื่องให้สมบูรณ์ตามควร ซึ่งในขณะที่ต้องรออยู่นั้น ข้าพเจ้าได้ขอร้องนายมะลิ โคกสันเทียะ ช่างศิลปโทของกรมศิลปากร ผู้ซึ่งได้ร่วมงานบูรณะสุโขทัย มาแต่ต้น ให้ค้นคว้าเรียบเรียงและทําแผนผังโบราณสถานไว้อีกบางเรื่อง เช่น เรื่อง เวียงเจ้าเงาะ เรื่องการชลประทานของเมืองสุโขทัยเก่า สมัยสุโขทัย เรื่องสรีดภงส์ หรือ ทํานบพระร่วง และเรื่องสถาปัตยกรรมรูปอาคารสมัยสุโขทัย และเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารู้ ควรพิมพ์เผยแผ่ได้ จึงนํามาพิมพ์รวมไว้ในเล่มนี้ด้วย    ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณท่านผู้บรรยาย ผู้ร่วมซักถามและอภิปราย ซึ่งมีนามปรากฏอยู่ในหนังสือนี้ และขอขอบคุณท่านผู้ร่วมในการสัมนาทางโบราณคดี ครั้งนั้นโดยทั่วกัน กับทั้งขอขอบพระคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกําแพงเพชร และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ตลอดจนบรรดาข้าราชการในจังหวัดดังกล่าว ซึ่งปรากฏว่าทุกท่านต่างมีความสนใจให้การต้อนรับและสนับสนุนงานสัมนาทางโบราณคดีด้วยความเต็มใจตลอดเวลา   อนึ่ง ขอขอบพระคุณพระยาอนุมานราชธน ซึ่งได้ให้อุปการะแก่การประชุมครั้งนี้เป็นอย่างดียิ่ง นอกจากท่านจะเข้าร่วมบรรยายเรื่องประเพณีสุโขทัยด้วยแล้ว ยังโปรดเมตตารับเชิญทําหน้าที่เป็นประธานของที่ประชุมทุกครั้ง จนเป็นผลให้การสัมนาทางโบราณคดีจบลงด้วยดี และขอขอบพระทัยหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ภัณฑารักษ์เอก กรมศิลปากร ผู้ซึ่งทรงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายเลขานุการของการประชุมสัมนา และทรงรับภาระถอดถ้อยคําซักถามและคําอภิปรายจากเทปอัดเสียงเรียบเรียงทําต้นฉบับ สําหรับพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ และขอให้บรรดาข้าราชการในกรมศิลปากร ซึ่งต้องเหน็ดเหนื่อยร่วมปฏิบัติงานการสัมนาทางโบราณคดีครั้งนั้น จนสําเร็จลุล่วงด้วยดี จงได้รับความขอบใจโดยทั่วกัน     ในที่สุด ข้าพเจ้าหวังว่า หนังสือเล่มนี้คงอํานวยประโยชน์อันดีแก่ผู้สนใจใฝ่การศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสมัยสุโขทัย ที่จะใช้เป็นเครื่องมือค้นคว้า หาความรู้โดยกว้างขวางสืบไป.


หมวด: หนังสือหายาก
หมวดรอง: -
วันที่รับเข้า: 29/03/2018