< หน้าหลัก / หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์ / ความเป็นอยู่ของประชาชนสมัยพุทธกาล >

ความเป็นอยู่ของประชาชนสมัยพุทธกาล

ความเป็นอยู่ของประชาชนสมัยพุทธกาล

เนื้อหาอย่างย่อ

การศึกษาประวัติศาสตร์ จำต้องทราบความเป็นอยู่ของอาณาประชาชน  ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศชาติ ว่าบรรพบุรุษของชาตินั้นได้มีความเป็นอยู่อย่างไร  และมีมาตรฐานความเจริญทั้งฝ่ายกาย และใจ ก้าวหน้าหรือถอยหลังลงอย่างไรบ้าง  ถ้าขาดความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ผู้ที่เกิดมาในรุ่นหลัง ก็ไม่อาจทราบได้ว่า แต่ก่อนนี้มีอะไรบ้างที่เป็นเหตุให้เกิดความบกพร่องผิดพลาดไป และมีอะไรบ้างที่ทําให้ชาติมีความเจริญ วัฒนาถาวร เมื่อไม่มีเรื่องราวข้อความรู้ที่พอจะเก็บเอามาประกอบการสันนิษฐานได้แล้ว  ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ก็ย่อมไม่สมบูรณ์  และคงจะเป็นด้วยเหตุนี้ประการหนึ่ง  นางริส เดวิดส์ ภรรยาท่านศาสตราจารย์ริส เดวิดส์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก จึงได้พยายามค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนสมัยพุทธกาล โดยอาศัยหยิบยกเอาข้อความตามเรื่องราวที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกนั่นเอง มาประกอบการพิจารณาสันนิษฐาน แล้วแต่งเป็นเรื่องราวที่กล่าวแล้วขึ้นไว้ ดังปรากฎอยู่ในหนังสือ The Cambridge History of India เล่ม ๑ ตอนที่ ๘    เมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ นาย ปพาฬ บุญ-หลง มาแจ้งความว่า อยากจะได้หนังสือสักเรื่องหนึ่ง เพื่อรับเอาไปพิมพ์ช่วยสมทบเข้าในจํานวนหนังสือสําหรับแจกในงานศพ นายเสียง พนมยงค์ บิดาหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เป็นอาจารย์ และหนังสือที่จะขอรับเอาไปพิมพ์นี้ ต้องการให้เป็น เรื่องทางประวัติศาสตร์หรือทางพระศาสนา กรมศิลปากรจึงแนะนําว่า ถ้าได้พิมพ์เรื่องนี้ขึ้น จะได้ประโยชน์ แต่วิตกว่าจะเรียบเรียงให้ได้พิมพ์ไม่ทันในงาน  ซึ่งมีเวลาเหลืออยู่เพียงเดือนเศษเท่านั้น เพราะจะต้องแปลและค้นคว้า สอบสวน แล้วเอามาเรียบเรียงขึ้นให้เป็นเรื่องราว ย่อมกินเวลามากอยู่ แต่กรมศิลปากรจะพยายามลองทําดู และมอบภาระในเรื่องสอบสวนและเรียบเรียงหนังสือเรื่องนี้ แก่ นายกี อยู่โพธิ์ เปรียญ ๙ ประโยค สํานักวัดมหาธาตุ ข้าราชการในกรมศิลปากร รับธุระไปจัดทํา ทั้ง ๆ ที่ในขณะนั้นก็มีราชการอย่างอื่นอยู่เต็มตัว จนเป็นผลสําเร็จพิมพ์เป็นเล่มขึ้นได้ทันงาน กรมศิลปากรจึงขอจารึกความดีของนายกี อยู่โพธิ์ ไว้ในที่นี้ด้วย   อนึ่ง หนังสือเรื่องนี้ นายกี อยู่โพธิ์ต้องการจะอธิบายขยายความให้พิสดาร หากแต่มีเวลาทําจำกัด จึงต้องย่อความให้น้อยลง ถึงกระนั้น ผู้รู้อาจสอบค้นข้อความให้พิสดารต่อไปได้ เพราะได้ให้ที่มาของข้อความต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องเรื่องโดยตลอดแล้ว   กรมศิลปากร ขออนุโมทนาในกุศลธรรมวิทยาส่วนทักษิณานุปทาน  ซึ่ง นายปพาฬ บุญ-หลง ได้พิมพ์หนังสือเรื่องนี้ขึ้น นับเนื่องเป็นปฏิการคุณ แด่อาจารย์ โดยฐานเป็นผู้กตัญญู กตเวที ขอกุศล ราศีอันนี้จงอํานวยสุขสมบัติพิพัฒนผล แด่ท่านผู้วายชนม์ไปแล้วนั้น สมดังมโนปณิธานทุกประการเทอญ.


หมวด: หนังสือหายาก
หมวดรอง: -
วันที่รับเข้า: 29/03/2018