คำนำ
หนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรนั้น อาจกล่าวได้ว่า ส่วนใหญ่มาจากหนังสือ ของหอพระสมุด ๓ แห่ง คือ หอพระมณเฑียรธรรม หอพุทธสาสนสังคหะ และหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระบรมราชตระกูล ซึ่งตามประกาศตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้กำหนดให้แบ่งหนังสือออกเป็น ๓ แผนก คือ แผนกหนังสือพระพุทธศาสนา แผนกหนังสือต่างประเทศ และแผนกหนังสือไทย สำหรับหนังสือพระพุทธศาสนาและหนังสือไทยเหล่านี้ ต่อมาได้จัดพิมพ์ออก เผยแพร่แก่ประชาชนเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวางสืบมา การจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือที่หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครได้จัดทำมาจนเปลี่ยน เป็นหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน เดิมใช้ต้นฉบับจากหนังสือตัวเขียนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของหอพระสมุด ฯ หรือที่หอพระสมุด ฯ ได้เรียบเรียงขึ้นใหม่เป็นส่วนใหญ่ โดยมีการชำระ ตรวจสอบ วินิจฉัยข้อความหรือ คำต่าง ๆ ให้ถูกต้อง รวมทั้งได้เรียบเรียงคำนำ คำอธิบาย และลักษณะของหนังสือหรือสาเหตุการพิมพ์ หนังสือเรื่องนั้น ๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ดีที่สุด และเข้าใจง่าย คำนำ คำอธิบายเหล่านี้ ในวงวิชาการถือเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นคำนำที่ดี มีคุณค่า สามารถใช้ศึกษาค้นคว้าอ้างอิงได้ แต่ส่วนใหญ่ ยังกระจัดกระจายอยู่ในหนังสือหายากต่าง ๆ ไม่สะดวกในการศึกษาค้นคว้า สำนักหอสมุดแห่งชาติจึง มอบหมายให้กลุ่มบริการทรัพยากรสารสนเทศ รวบรวมขึ้นเพื่อทยอยจัดพิมพ์ให้ครบ
โดยแบ่งเป็นหมวด รวม ๕ เล่ม คือ
เล่ม ๑ หมวดกฎหมาย ตำรา การเดินทาง
เล่ม ๒ หมวดประวัติศาสตร์
เล่ม ๓ หมวดประชุมพงศาวดาร
เล่ม ๔ หมวดวรรณกรรม
เล่ม ๕ หมวดศาสนา
ปีงบประมาณ ๒๕๖๓ กรมศิลปากรโดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้จัดพิมพ์หนังสือประชุม คำนำ คำอธิบาย หนังสือของหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เล่ม ๕ หมวดศาสนา ออกเผยแพร่ โดยคาดหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะอำนวยประโยชน์เพื่อการศึกษาค้นคว้าแก่ผู้สนใจโดยทั่วกัน
นายประทีป เพ็งตะโก
อธิบดีกรมศิลปากร