รายงานการวิจัย เรื่อง สภาพและปัญหาการดำเนินงานคลังสิ่งพิมพ์ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ

เนื้อหาอย่างย่อ

บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการดำเนินงานคลังสิ่งพิมพ์ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ในด้านการจัดการคลังสิ่งพิมพ์ การจัดหาและประเภททรัพยากรสารสนเทศ การจัดเก็บและการจัดทำเครื่องมือ
ช่วยค้น การให้บริการและการสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศในคลังสิ่งพิมพ์การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ
เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้าง (Semi-structured interview) ผู้ให้ข้อมูลหลักคือ
ผู้บริหารและบุคลากรสำนักหอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๑๘ คน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
๑. สภาพการดำเนินงานคลังสิ่งพิมพ์ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
     ๑) ด้านการจัดการคลังสิ่งพิมพ์ พบว่า
วัตถุประสงค์ของคลังสิ่งพิมพ์ก่อตั้งเพื่อเป็นแหล่งกลางในการเก็บรวบรวมสิ่งพิมพ์ทุกชนิดที่ผลิตในประเทศไทย
โดยมีนโยบายการจัดการคลังสิ่งพิมพ์ ๒ รูปแบบคือเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษรด้านอาคาร
การที่คลังสิ่งพิมพ์ตั้งอาคารแยกออกไปเป็นเอกเทศส่งผลดีมากกว่าผลเสีย
     ๒) ด้านการจัดหาและประเภททรัพยากร
สารสนเทศ ปัจจุบันคลังสิ่งพิมพ์ได้รับทรัพยากรสารสนเทศจากพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐
เป็นแนวทางหลัก
     ๓) การจัดเก็บและจัดทำเครื่องมือช่วยค้นทรัพยากรสารสนเทศคลังสิ่งพิมพ์ของสำนักหอสมุด
แห่งชาติใช้การจัดเก็บแบบเอกสาร (Records management system) จัดเก็บในวัสดุไร้กรด (Acid free paper)
     ๔) การให้บริการคลังสิ่งพิมพ์ คลังสิ่งพิมพ์ให้บริการสำเนาเอกสารเพื่อเป็นพยานเอกสารอ้างอิงทางตุลาการ และ
สนับสนุนการให้บริการในกรณีที่ผู้ใช้บริการมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรสารสนเทศที่ไม่สามารถหาได้จาก
แหล่งอื่น
     ๕) การสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศ พบว่า มีวิธีการดูแลรักษาทรัพยากรสารสนเทศตั้งแต่เบื้องต้น
มีการถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์จากรุ่นสู่รุ่น
๒. ปัญหาและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานคลังสิ่งพิมพ์ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ
ประเด็นปัญหาสำคัญพบว่าคลังสิ่งพิมพ์ของสำนักหอสมุดแห่งชาติได้มีการกำหนดนโยบาย
การจัดการคลังสิ่งพิมพ์ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่การถ่ายทอดนโยบายไปยังผู้ปฏิบัติงานยังขาดความต่อเนื่อง
และไม่ครอบคลุมรายละเอียดและข้อปฏิบัติอย่างชัดเจนและครบถ้วนได้เสนอแนะให้มีการกำหนดนโยบาย
การจัดการด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุม ชัดเจนจัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติงาน พร้อมสื่อสาร ถ่ายทอดนโยบาย
ดังกล่าวตามลำดับการบังคับบัญชา ปัญหาการสงวนรักษายังขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและไม่มี
แผนการอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยเสนอแนะให้มีการสำรวจทรัพยากรสารสนเทศที่มีสภาพชำรุดมาดำเนินการ
อนุรักษ์ ฝึกอบรมการอนุรักษ์และสงวนทรัพยากรสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง ด้านการจัดเก็บพบปัญหายังมีการ
จัดเก็บในรูปแบบดั้งเดิมควรปรับรูปแบบการสืบค้นด้วยการนำเทคโนโลยีการใช้บาร์โค้ดเพื่อให้การใช้งาน
สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


หมวด: องค์ความรู้และสิ่งพิมพ์หอสมุดแห่งชาติ
หมวดรอง: -
ISBN: 978-616-283-471-4
ผู้แต่ง: สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ปีที่พิมพ์: 2562
วันที่รับเข้า: 01/10/2020