เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (พราหมณ์สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล) กำหนดวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๐๓ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริย์ยาราม เจ้าภาพได้แจ้งความประสงค์แก่เจ้าหน้าที่แผนกค้นคว้า กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรว่ามีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือเรื่อง “นางนพมาศ” อันเป็นเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพราหมณ์ แจกจ่ายเป็นอนุสรณ์แก่ผู้มาร่วมงาน กรมศิลปากรมีความยินดีอนุญาตให้จัดตีพิมพ์แจกจ่ายได้ตามประสงค์
หนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเรียบรียงคำอธิบายไว้ดังต่อไปนี้
“หนังสือเรื่องนี้เรียกกันมาแต่ก่อน ๓ ชื่อ เรียกว่าเรื่องนางนพมาศชื่อ ๑ เรียกว่าเรื่องเรวดีนพมาศชื่อ ๑ เรียกตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ชื่อ ๑ แต่ที่จริงก็หมายความอันเดียวกัน เพราะผู้ที่ว่าแต่งหนังสือเรื่องนี้กล่าวกันว่าชื่อนางนพมาศ บิดาเป็นพราหมณ์รับราชการในตำแหน่งที่พระศรีมโหสถครั้งนครสุโขทัยเป็นราชธานีของสยามประเทศ มารดาของนางนพมาศชื่อนางเรวดี บิดามารดาได้นำนางนพมาศภวายทำราชการในสำเด็จพระร่วงเจ้า ได้เป็นพระสนมเอกตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อาศัยประวัติของนางที่ปรากฏดังนี้ จึงเรียกชื่อหนังสือนี้ต่างๆกันดังกล่าวมา
ส่วนข้อความของหนังสือเรื่องนี้ ตอนต้นกล่าวด้วยมนุษยชาติและต่อมากล่าวแสดงเหตุที่บิดามารดานำเข้าไปถวายตัวเป็นนพระสนมแล้วพรรณนาถึงหน้าที่ราชการฝ่ายในตลอดไปจนแบบวิธี ๑๒ เดือนซึ่งมีเป็นราชประเพณีในครั้งกรุงสุโขทัยเป็นที่สุด
ว่าโดยทางโวหาร ใครๆอ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะเห็นได้โดยง่าย ว่าเป็นหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เองแต่งในระวางรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป และไม่เป็นสำนวนภายหลังนั้นลงมาเป็นแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจารึกครั้งสุโขทัย หรือหนังสือซึ่งเชื่อว่าแต่งครั้งสุโขทัยเช่นหนังสือไตรภูมิพระร่วงเป็นต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเป็นหนังสือแต่งใหม่เป็นแน่ ปละยังซ้ำมีคำที่กล่าวผิด ที่จับได้โดยแจ่มแจ้งว่าเป็นของใหม่หลายแห่ง ยกตัวอย่างดังตรงว่าด้วยชนชาติต่างๆ หนังสือนี้ออกชื่อฝรั่งหลายชาติ ซึ่งที่จริงไม่ว่าชาติใดยังไม่มีเข้ามาในประเทศนี้ เมื่อครั้งนครสุโขทัยเป็นราชธานีเป็นแน่ อีกข้อ ๑ ที่ว่าครั้งสุโขทัยมีปืนใหญ่ขนาดนับด้วยหลายหาบ ปืนใหญ่ในครั้งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นในโลก แต่ที่พิศวงยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้นยังมีแห่ง ๑ ที่ลงชื่อชาติฝรั่งอเมริกาลงไว้ในนั้นด้วย ชาติอเมริกันเองก็พึ่งเกิดขึ้นในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะฝรั่งช่างทำแผนที่คนหนึ่งไปทำแผนที่คนหนึ่งไปทำแผนที่ให้ปรากฏรู้ได้ชัด ว่าเป็นทวีปหนึ่งต่างหาก มิใช่อินเดียฝ่ายตะวันตกดังเข้าใจกันมาแต่ก่อน จึงได้เรียกนั้นว่าอเมริกา ตามชื่อช่างแผนที่ผู้ที่ไปพบความซับซ้อน เมื่อสำนวนหนังสือเห็นว่าเป็นหนังสือครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยเหตุต่างๆดังกล่าวมานี้ประการ ๑ ยังซ้ำหนังสือเรื่องนี้ฉบับที่ข้าพเจ้าเคยได้พบเห็นมาแต่ก่อน ล้วนเป็นฉบับที่ผู้ร้ายในทางหนังสือได้แทรกแทรงแปลงปลอมเสียจนเลอะเทอะด้วยอีกประการ ๑ แต่ก่อนมาข้าพเจ้าจึงมิได้มีความนิยมต่อหนังสือเรื่องนางนพมาศ จนถึงได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในที่ประชุมโบราณคดีสโมสรว่าข้าพเจ้าไม่เชื่อหนังสือเรื่องนี้ ว่าเป็นหนังสือของนางนพมาศจริงดังอ้างไว้ในตัวเรื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาอธิบายว่า หนังสือเรื่องนี้ได้เคยทอดพระเนตรเห็นฉบับหลวง แต่ถึงฉบับหลวงก็เป็นหนังสือแต่งใหม่ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างข้าพเจ้าคิดเห็นนั้นเป็นแน่ไม่มีที่สงสัย แต่ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนมา มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นต้น ทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ ชะรอยเรื่องเดิมเขาจะมีอยู่บ้าง แต่ฉบับเดิมจะบกพร่องวิปลาสขาดหายไปอย่างไร จึงมีผู้ใดในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้แต่งใหม่ โดยตั้งใจจะปฏิสังขรณ์ให้เรียบร้อย แต่ผู้แต่งมิได้ถือเอาความจริงเท็จในพงศาวดาเป็นสำคัญอย่างเรานิยมกันทุกวันนี้แต่งแต่จะให้ไพเราะเพราะพริ้งเรียงลงไปตามความรู้ที่อยู่ในเวลาแต่งหนังสือ เรื่องหนังสือจึงวิปลาสไป
ได้ทราบกระแสพระราชดำริดังกล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้ายังหาหนังสือเรื่องนางนพมาศที่เป็นฉบับบดีไม่ได้ จึงยังมิได้พิจารณาหนังสือเรื่องนี้ต่อมา จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จัดหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นเป็นหอสมุดสำหรับพระนคร เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๗ และโปรด ฯ ให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นสภานายกของกรรมการ ได้หนังสือเก่ามารวบรวมไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณอีกมาก ให้พวกหนังสือที่หาได้ มีหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้หลายฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นของเจ้าพระยารัตนบดินทร แต่ยังเป็นเจ้าพระยาพลเทพ ซึ่งเชื่อได้ว่าพวกผู้ร้ายปลอมหนังสือยังมิได้จับต้องมีอยู่เล่มสมุดไทย ๑ กับฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทูลเกล้า ฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงค้นได้มาอีก ๓ เล่ม ซึ่งเป็นฉบับดีอย่างเดียวกัน และบางทีจะเป็นฉบับเดียวกับของเจ้าพระยารัตนบดิทรด้วยซ้ำไป เพราะ รวมเข้ากันได้พอเต็มเรื่องแต่ต้นจนปลายบริบูรณ์ ข้าพเจ้าจึงเอามาอ่านพิจารณาดูโดยถ้วนถี่เมื่อในรัชกาลที่ ๖ เมื่ออ่านตลอดเรื่องแล้วคิดเห็นความจริงงามจะเป็นอย่างกระแสพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือหนังสือเรื่องนี้ ของเดิมเข้าจะมีจริง เพราะลักษณะพิธีของพราหมณ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนี้โดยมากเป็นตำราพิธีจริงและเป็นพิธีอย่างเก่า อาจจะใช้เป็นแบบแผนก่อนครั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใดจะมาคิดปลอมขึ้นใหม่ได้ทั้งหมด ดีร้ายหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ของเดิมจะมาในจำพวกหนังสือตำราพราหมณ์ (๑) ซึ่งเขียนด้วยตัวหนังสือพราหมณ์เป็นภาษาไทยหนังสือเรื่องนางนพมาศถ้ามาโดยทางตำราพราหมณ์ฉบับเดิมจะขาดๆวินๆอยู่อย่างไร จึงมีผู้มาแต่งขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒ หรือที่ ๓ ในกรุงรัตนโกสินทร์ดังกล่าวมาแล้ว
พระบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้เคยทรงสดับกระแสรับสั่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการฝ่ายในที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ว่า รับราชการมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ได้เคยกราบบังคมทูล ฯ ว่าหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์แทรกไว้ตอน ๑ เปรียบเทียบกิริยาอาการของข้าราชการฝ่ายในเป็นเชิงทรงบริภาษ แต่จะเป็นตรงไหนไม่ปรากฏ เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบข้อความนี้มาตรวจต้นฉบับดูเห็นความในตอนนางนพมาศเจรจากับบิดามารดาเมื่อก่อนจะเข้าไปรับราชการ คือตั้งแต่หน้า ๒๖ จนหน้า ๕๖ ในหนังสือที่พิมพ์ฉบับนี้เป็นความว่าเปรียบเทียบนิสัยหญิง และโวหารที่แต่งดีมาก ตอนนี้อาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ควรผู้อ่านจะสังเกต
หนังสือเรื่องนางนพมาศนับว่าเป็นหนังสือสำคัญในไทยเรื่อง ๑ ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว และเป็นเรื่องโบราณคดีซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิยม และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงได้อ้างถึงหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือนหลายแห่ง หวังใจว่าจะเป็นที่พอใจแก่ผู้อ่านทั่วกัน ”
กรมศิลปากรขออนุโมทนากุศลราศีทักษิณานุปทาน ที่เจ้าภาพได้บำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลแด่ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (พราหมณ์สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล) ผู้ล่วงลับไปแล้ว และได้ให้ตีพิมพ์หนังสือนี้ออกแจกจ่ายเป็นวิทยาทาน ขอกุศลทั้งปวงจงดลบันดาลให้พระราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (พราหมณ์สวสดิ์ รังสิพราหมณกุล) ได้ประสบสุคติตามความแก่วิสัยในสัมปรายภพจงทุกประการ เทอญ