บทโขน เรื่องรามเกียรตื์

เนื้อหาอย่างย่อ

เรื่องที่ใช้เป็นหัวข้อสำหรับแสดงโขน เท่าที่ทราบและมีหลักฐานปรากฎอยู่ คือ เรื่องรามเกียรติ์ มีเนื้อเรื่องคล้ายรามายณะฉบับวาลมีกิ ของอินเดีย ซึ่งรามเกียรติ์ของเราคงจะได้เค้าเรื่องมาจากรามายณะและจากอื่นๆบ้าง แล้วนำมาแต่งกันไว้เป็นบทเล่นหนังและบทเล่นละคอน มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่องราวในรามเกียรติ์ของเรา ทั้งที่แต่งไว้เป็นบทเล่นหนังและบทเล่นละคอน ดำเนินความยืดยาวมาก เมื่อนำมาใช้เป็นบทแสดงโขน อาจารย์ทางศิลปแต่ก่อน จึงแบ่งท้องเรื่องออกแสดงเป็นตอนๆ เรียกว่า “ชุด” แต่ละชุดก็ใช้เวลาแสดงครั้งละหลายชั่วโมง ถ้าจำเป็นต้องแสดงให้จบเรื่องรามเกียรติ์ ก็จะต้องใช้เวลาหลายวันหลายคืน อาจกำหนดเวลาแสดงเป็นเดือนก็ได้ แต่ละชุดต่างก็มี “กลเม็ด” ทางศิลป ซึ่งคณาจารย์ทางโขนได้แทรกเข้าไว้เป็นประจำชุดประจำตอนต่างๆ กัน แต่หลักการส่วนใหญ่ของการเล่นโขน ก็อยู่ที่ศิลปแห่งการแสดงท่ายักษ์ ท่าลิง ท่าพระ และท่านาง กับท่าตรวจพลยกทัพ และท่ารบระหว่างลิงกับยักษ์และยักษ์กับพระ นอกนั้นก็เป็นศิลปเบ็ดเตล็ดประกอบด้วยกลเม็ดเด็ดพลาย ซึ่งแทรกไว้ด้วยเรื่องตลกและเรื่องเกี่ยวกับจารีตประเพณีและชีวิตประจำวันแบบไทยๆ ที่คณาจารย์แต่ละคนนำมาต่อเติมเสริมใส่เข้าไว้ในการแสดงโขนชุดนั้นๆ เพื่อให้การแสดงออกรสสนุกเฉพาะคราวเฉพาะตอน เมื่อกลเม็ดอันใดดีและเป็นที่นิยมกัน ต่อมาก็มักจะถือกันเป็นแบบแผนที่ขาดไม่ได้ แต่บางอย่างก็อาจไม่เป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไปในสมัยปัจจุบัน เมื่อกรมศิลปากรได้จัดโขนแสดงเป็นชุดๆ ตามฤดูกาลประจำปี ดังปรากฎเป็นที่นิยมกันแพร่หลายต่อมา ก็ได้มีผู้ดูที่รักศิลปทางโขนและเอาใจใส่ในเนื้อเรื่อง หลายท่านได้เสนอขอร้องมาเนืองๆ ขอให้กรมศิลปากรจัดแสดงโขนให้จบในครั้งเดียว เมื่อได้รับข้อเสนอครั้งแรกๆ ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อได้นำมาพิจารณาด้วยเหตุผลและหลักวิชา ก็เห็นว่าเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับพระราม นางสีดา ทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่อง อย่างที่เรียกในภาษาศิลปว่า ภาคส่วนประธาน (Principals) ตัวละคอนนอกนั้นก็เป็นแต่เพียงภาคส่วนรอง (Subordinates) หรือตัวประกอบ ถ้าหรับปรุงบทโดยยึดหลักดังกล่าวนี้ไว้ ก็ดูมีทางจะทำได้และควรลองทำดู ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงคิดปรับปรุงบทสำหรับแสดงโขนขึ้นใหม่ ให้สามารถแสดงได้จบเรื่องในคราวเดียว โดยยึดหลักดังกล่าวนั้น และมอบให้ครูอาจารย์และศิลปินในกองการสังคีต กรมศิลปากร ช่วยกันพิจารณานำเอาเนื้อเรื่องในรามเกียรติ์ของเราบ้างและบางตอนก็ปรับชื่อและท้องเรื่องไปตามรามายณะบ้าง แต่งบทและปรับปรุงเรื่องขึ้นใหม่ให้เหมาะที่จะใช้เป็นบทแสดงในคราวนี้ ดังมีรายชื่อผู้แต่งบทปรากฎอยู่ในหน้าต่อไปนั้นแล้ว ท่านผู้ดูผู้ชม เมื่อได้อ่านบทหรือได้ชมการแสดงตามบทนี้ คงจะสังเกตเห็นได้ว่ากรมศิลปากรได้พยายามเป็นอย่างยิ่งเพื่อรักษาศิลปที่เป็นหลักใหญ่ของโขนไว้ เช่น ให้มีช่องทางแสดงศิลปแห่งท่าของพระ ของนาง ของยักษ์ ของลิง และทีท่าในการตรวจผลยกทัพและท่ารบอันเป็นศิลปชิ้นสำคัญของโขนไว้โดยครบถ้วย ส่วน “กลเม็ด” ของการแสดงที่เคยจัดแทรกกันไว้เป็นประจำในชุดต่างๆ นั้น เมื่อไม่เข้ากับบทที่ปรับปรุงใหม่นี้ ก็ย่อมจะไม่มีอยู่เอง แต่การปรับปรุงใหม่ตามที่กล่าวนี้ อาจไม่จุใจท่านผู้รู้และท่านผู้ดูบางท่าน ซึ่งเป็นนักนิยมศิลปและเคยดูเคยชมการแสดงเป็นชุดตามศิลปแบบเดิม ด้วยคงจะรู้สึกอยู่ว่า ตรงนั้นไม่มี ตรงนี้ขาดหายไป ดังนี้ก็อาจเป็นได้ จึงขอถทอโอกาสเสนอแนะไว้ในที่นี้ด้วยว่า วิธีหาความสนุกในการชมโขนตามแนวที่ปรับปรุงใหม่นี้ เห็นจะต้องลองทำใจเป็นกลางๆ สมมติว่าตนเองยังไม่เคยรู้เรื่องรามเกียรติ์และศิลปแห่งการแสดงโขนมาก่อน แล้วมานั่งชมการแสดงโขนของกรมศิลปากรตามแนวที่ปรับปรุงใหม่นี้เป็นครั้งแรก บางทีจะค่อยทุเลาความรำคาญใจประสบรสนิยมอันดีในศิลปของการแสดงโขนอย่างครบถ้วย ด้วยการดูเพียงครั้งหนึ่งคราวเดียว ก็อาจเป็นได้.


หมวด: หนังสือหายาก
หมวดรอง: -
วันที่รับเข้า: 29/03/2018