< หน้าหลัก / หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์ / เอกสารเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศสมัยกรุงศรีอยุธยา >

เอกสารเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศสมัยกรุงศรีอยุธยา

เอกสารเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศสมัยกรุงศรีอยุธยา

เนื้อหาอย่างย่อ

ในการทอดกฐินพระราชทานกรมศิลปากรนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องย่อมคาดหมายกันว่าคงมีหนังสือดีแจก เพราะกรมนี้เป็นเจ้าของหนังสือเอง แต่การไม่สู้จะเป็นไปตามที่คาดหมาย เพราะไม่มีเวลาทำเรื่องดีๆในการทอดกฐินปีนี้ก็ไม่มีเวลาเรียบเรียงเรื่องใหม่ ข้าพเจ้าได้ค้นหาเรื่องเก่าๆของข้าพเจ้า ก็นึกได้ถึงเอกสารว่าด้วยความสัมพันธ์ในระหว่างไทยกับต่างประเทศ ซึ่งได้เขียนไว้เป็นวันๆ ตั้งแต่ต้นปีพ.ศ. ๒๔๔๗ แต่เคยคิดจะพิมพ์เป็นเล่มสมุด แต่ยังเขียนได้ไม่มากพอจึงรอไว้ มาจนบัดนี้ก็ยังไม่มีเวลาเขียนต่อข้าพเจ้าคิดว่าถ้าได้รวบรวมพิมพ์ให้ต่อเนื่องเป็นหมวดเดียวกันไว้คราวหนึ่งก่อน จะมีประโยชน์มาก และบางทีจะช่วยบำรุงกำลังใจให้เขียนต่อไป หรือถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เขียนเอง ก็อาจเป็นเครื่องจูงใจให้ผู้อื่นเขียนต่อ เอกสารเหล่านี้ เป็นประโยชน์แก่การศึกษาประวัติศาสตร์ สยาม อย่างยิ่งตามที่ทราบกันอยู่แล้ว ประวัติศาสตร์ของเรายังบกพร่องมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือประวัติศาสตร์ตอนกลางและตอนปลายแห่งสมัยกรุงศรีอยุธยาเพิ่งจะได้มาเขียนกันในสมัยกรุงธนบุรี และเขียนโดยไม่ได้อาศัยเอกสารหลักฐานอันใดเป็นแต่จดตามคำพูดปากตลาดและเป็นนักเล่านิยาย ฉะนั้นจึงได้มีเรื่องเเหลวแหลกอยู่มากหลาย เช่นรายละเอียดเรื่องโกษาปานไปประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีความไม่จริงเข้ามาผะสมอยู่ตั้ง ๙๐ เปอร์เซ็น ทั้งนี้เพราะจดหมายเหตุหรือเอกสารต่างๆ ที่จะใช้เป็นอุปกรณ์การเรียบเรียงเรื่องประวัติศาสตร์นั้น ได้ถูกทำลายหายศูนย์ไปในเวลาเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พะม้าครั้งหลังนี้อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง กรุงธนบุรีไม่มีคนที่จะเรียบเรียงประวัติศาสตร์ได้ดีสมดังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยะมหาราชทรงตำหนินักเรียบเรียงพงศาวดารในครั้งกระนั้นว่าแม้จะเก็บความก็ไม่เป็น เมื่อหลักฐานของเราหายาก และผู้เรียบเรียงในชั้นหลังก็เรียบเรียงไม่เป็นด้วยดังนี้ ประวัติศาสตร์สยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนกลางและตอนปลาย จึงเลอะเลือนยิ่งกว่าตอนต้นและสมัยสุโขทัย ซึ่งมีศิลาจารึกเป็นอุปกรณ์อันประเสริฐแต่เป็นเคราะห์ดีที่นับแต่ตอนกลาง แห่งสมัยกรุงศรีอยุธยาลงมา ไทยได้เริ่มติดต่อกับชาวยุโรป ชาวยุโรปที่ใหม่อยู่ในประเทศเรา ได้มีจดหมายไปมากับพวกพ้องญาติมิตร ผู้ที่ทำการค้าขายติดต่อกัน หรือเจ้าหน้าที่ทางรัฐบาลตลอดถึงองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน เอกสารเหล่านี้ได้รวบรวมไว้และจากค้นได้มากหลายในหอสมุดของประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลันดา ราชบัณฑิตยสภาได้จ้างคนมาคัดไว้มากจากประเทศทั้งสามนี้ยังเหลือประเทศปอร์ตุเกสอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่ามีเอกสารดีๆ ไม่น้อยกว่าในสามประเทศที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการแน่นอนว่าเอกสารเหล่านี้ มีข้อความที่เชื่อได้เป็นส่วนมาก นักประวัติศาสตร์ย่อมทราบดีว่า จดหมายมีไปมา ส่วนตัวบุคคลนั้นเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเรียบเรียงประวัติศาสตร์เพียงไร ดีกว่าสำคัญกว่าและเชื่อได้มากกว่า สมุดที่เรียบเรียงในครั้งกระนั้นเสียอีก เพราะว่าสมุดหนังสือที่เรียบเรียงนั้น เจ้าของอาจปรับปรุงให้โลดโผนเกินความจริงไปบ้าง แต่จดหมายหรือเอกสารเป็นของเกี่ยวกับกิจธุระ ผู้เขียนย่อมจะต้องบอกเล่าความจริงให้กันทราบ ฉะนั้นเอกสารที่นำมาพิมพ์ใน ที่นี้จึงมีประโยชน์ เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านตลอดแล้ว จะเห็นได้ว่ามีประโยชน์จริงๆ เอกสารชะนิดนี้ ในหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรมีอยู่เป็นอันมากที่พิมพ์เป็นเล่มภาษาอังกฤษแล้ว มีราว 10 เล่ม ที่ยังมิได้พิมพ์มีมากกว่าที่พิมพ์แล้วและเป็นภาษาอังกฤษบ้าง ฝรั่งเศสบ้างท่านผู้ใดได้อ่านข้อความที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ มีความพอใจบังเกิดศรัทธาจะช่วยกันทำต่อ ไปในทำนองที่ข้าพเจ้าทำแล้วนี้ ข้าพเจ้าจะยินดีอนุโมทนาและให้ความสะดวกด้วยประการทั้งปวงขออย่างเดียวแต่ว่า ให้เราทำกันด้วยศีลด้วยสัตย์  คืออย่าตัดความที่สำคัญทิ้งเสีย แล้วอยากต่อเติมสิ่งที่ไม่มีจริงลงไปในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้ให้นายเถา ศรีชลาลัย รวบรวมเรื่องตำนานวัดอินทารามพิมพ์ไว้ด้วย


หมวด: หนังสือหายาก
หมวดรอง: -
วันที่รับเข้า: 26/03/2018