โครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 256 5 ครั้งที่ 5 จังหวัดอุดรธานีและนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 16-24 มิถุนายน 2565 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย กลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก ดำเนินโครงการสำรวจเอกสารโบราณ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 5 มีผู้ไปปฏิบัติงานตามโครงการจำนวน 5 รายดังนี้
1. นางสาววชรพร อังกูรชัชชัย นักภาษาโบราณชำนาญการ (หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจเอกสารโบราณ)
2. นายสันติ วงศ์จรูญลักษณ์ นักภาษาโบราณชำนาญการ
3. นางรตนาภรณ์ สอาดโอษฐ์ นักภาษาโบราณปฏิบัติการ
4. นายจามีกร ชูทรัพย์ นักภาษาโบราณปฏิบัติการ
5. นายธน ซึมไพศาล พนักงานขับรถยนต์
คณะทำงานเข้าไปปฏิบัติงาน จำนวน 3 พื้นที่ ดังนี้
⊙ วัดป่าดงหนองตาล (โนนตูมสราราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ไปสำรวจเอกสารโบราณตามหนังสือที่พระอธิการพิศนุ สนฺตมโน เจ้าอาวาส แจ้งขอความอนุเคราะห์ จากการสำรวจเบื้องต้นพบเอกสารโบราณ ประเภทคัมภีร์ใบลาน อักษรธรรมอีสาน และอักษรไทยน้อย มีจำนวนประมาณ 150 รายการ ได้กราบเรียนถึงแนวทางการทำงาน และวางแผนการทำงานในปีต่อไป
⊙ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา คณะทำงานนำส่งคัมภีร์ใบลาน ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึกลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จำนวน 199 เลขที่ โดยนางชลิตา อาภาทิพยานุกูล (บรรณารักษ์ชำนาญการ) รักษาการผู้อำนวยการ เป็นผู้รับมอบ และ นางสาวปรัศนีภรณ์ พลายกำเหนิด นักภาษาโบราณปฏิบัติการ มาตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน
⊙ วัดบึง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติงานสำรวจและทำทะเบียนเอกสารโบราณ ประเภทคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทย (ต่อเนื่องครั้งทึ่ 4) โดยได้รับความเมตตาจาก พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าอาวาส อนุญาตให้เข้าไปปฏิบัติงานภายในวัด และมอบหมายให้นายไพฑูรย์ คงจันทร์ ไวยาวัจกร เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่คณะทำงาน
คณะทำงานขอขอบพระคุณนางชลิตา อาภาทิพยานุกูล (บรรณารักษ์ชำนาญการ) รักษาการผู้อำนวยการ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา ที่ให้ความอนุเคราะห์บุคคลากรนางสาวปรัศนีภรณ์ พลายกำเหนิด นักภาษาโบราณปฏิบัติการ มาร่วมปฏิบัติงานกัยคณะทำงาน
คณะทำงานขอขอบพระคุณนายสมชัย ฟักสุวรรณ์ ข้าราชการบำนาญ (นักภาษาโบราณชำนาญการพิเศษ) ที่เมตตามาช่วยอ่านคัมภีร์ใบลานแตกผูกไม่มีชื่อเรื่อง เพื่อตั้งชื่อเรื่องและนำไปลงทะเบียน
คณะทำงานขอขอบคุณนางรสสุคนธ์ ตั้งนภากร บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา ที่เสียสละเวลาหลังเลิกงาน มาช่วยห่อคัมภีร์ใบลาน
และขอบขอบพระคุณนางสาวอิสรีย์ นวกุลย์ชัย ผู้มีจิตศรัทธาภาคประชาชน เป็นผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ประจำปี 2563 และคณะได้บริจาคผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเพื่อการอนุรักษ์เอกสารโบราณ ให้วัดบึง(พระอารามหลวง) จังหวัดนครราชสีมา
คณะทำงานได้สำรวจและทำทะเบียนเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน มีขั้นตอนดังนี้
1. คัดแยกเอกสารตามลักษณะทางกายภาพ ดังนี้
- คัมภีร์ใบลานเส้นจาร ขนาดยาว
- คัมภีร์ใบลานเส้นจาร ขนาดสั้น
- คัมภีร์ใบลาน ไม่มีชื่อเรื่องหน้าปก
- คัมภีร์ใบลานเส้นชุบหมึก
- คัมภีร์ใบลานเส้นพิมพ์
- คัมภีร์ใบลานกระดาษ เส้นพิมพ์
- คัมภีร์ใบลานแตกผูก เป็นใบ ๆ ไม่สามารถนำเรื่องเดียวกันมารวมเป็นผูกได้
- คัมภีร์ใบลาน ที่มีเชื้อรา
เมื่อคัดแยกหมดแล้ว นำคัมภีร์ใบลานเส้นจาร ขนาดยาว มาดำเนินการก่อนเป็นอันดับแรก และคัมภีร์ใบลานขนาดสั้นมาดำเนินการเป็นลำดับต่อไป โดยมีขั้นตอนดังนี้
2. ปัดฝุ่น เปลี่ยนสายสนองที่ชำรุด เสริมปกหน้า-หลังผูกที่ไม่มีปก
3. ทำความสะอาดเช็ดเชื้อราออกจากคัมภีร์ใบลาน
4. อ่าน-คัดแยกคัมภีร์ใบลานตามชื่อเรื่อง
5. อ่านเพื่อหาชื่อเรื่อง คัมภีร์ใบลานที่ไม่มีปกหน้าชื่อเรื่อง
6. จัดมัดคัมภีร์ โดยนำเรื่องเดียวกัน ฉบับเดียวกัน มาจัดเข้ามัดก่อน
7. ลงทะเบียนในแบบบันทึกข้อมูล ที่ละเรื่อง พร้อมทั้งให้เลขที่
8. เขียนเลขที่ บนคัมภีร์ใบลานทุกผูก
9. ประทับตราของวัด บนคัมภีร์ใบลาน
10. ประทับตราของวัด บนไม้ประกับ
11. เขียนป้ายหน้ามัดของคัมภีร์ใบลาน
12. นำผ้าห่อที่ได้รับบริจาค มาห่อคัมภีร์ใบลาน
13. จัดเก็บ โดยเรียงตามเลขที
สำรวจและทำทะเบียนเอกสารโบราณประเภท หนังสือสมุดไทย มีขั้นตอนดังนี้
1. ทำความสะอาดเบื้องต้น ด้วยการปัดฝุ่น
2. อ่าน-วิเคราะห์เนื้อเรื่อง ตั้งชื่อเรื่อง จัดหมวดตามหลักวิชาการของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก
3. ลงทะเบียนในแบบบันทึกข้อมูล ที่ละเล่มจนหมด
4. ให้เลขที่ ที่ละหมวด
5. เขียนป้ายเพื่อติดที่หน้าหนังสือสมุดไทย ใช้กาวเพื่อการอนุรักษ์ติดบนเล่มสมุด และประทับตราของวัดบนป้าย
6. จัดมัดในแต่ละหมวด
7. เขียนป้ายหน้ามัด
8. ใช้เชือกมัดหนังสือสมุดไทย และใส่ป้ายหน้ามัดตามที่จัดไว้
9. จัดเก็บ ตามหมวด และเรียงเลขที่
ผลการดำเนินการลงทะเบียนเอกสารโบราณ ของวัดบึง (พระอารามหลวง)
⊙ คัมภีร์ใบลาน อักษรขอมไทย อักษรธรรมอีสาน อักษรมอญ และอักษรไทย ภาษาบาลี และภาษาไทย จำนวน 681 รายการ จัดกลุ่มลงทะเบียนได้ 125 เลขที่ จัดมัดได้ 74 มัด
⊙ หนังสือสมุดไทย อักษรขอมไทย อักษรไทย ภาษาบาลี และภาษาไทย
จำนวน 20 รายการ มีรายละเอียดตาม ดังนี้
-หมวดกฎหมาย 1 รายการ
-หมวดจดหมายเหตุ 2 รายการ
-หมวดตำราภาพ 1 รายการ
-หมวดตำราเวชศาสตร์ 2 รายการ
-หมวดธรรมคดี 9 รายการ
-หมวดวรรณคดี 2 รายการ
-หมวดไสยศาสตร์ 3 รายการ
การดำเนินการ สำเร็จลงได้ด้วยดี จึงขอขอบพระคุณและขอบคุณทุกท่านที่ได้เมตตาและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบึง จังหวัดนครราชสีมา พระอธิการพิศนุ สนฺตมโน เจ้าอาวาสวัดป่าดงหนองตาล จังหวัดอุดรธานี ท่านอธิบดีกรมศิลปากร รักษาการผู้อำนวยการ หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ร.9 นครราชสีมา ท่านผู้บริหารตามสายงาน หวังว่าจะได้รับความเมตตาอนุเคราะห์ ในโอกาสต่อไป