หนังสือสุภาษิตสอนศิษย์ เป็นฉบับของหอสมุดแห่งชาติ บอกไว้ว่าเป็นนิพนธ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะทรงเกียรติคุณ แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปท่านได้ถึงมรณภาพเสียในต้นรัชกาลที่ ๕ นี้เอง
หนังสือนี้แต่งเป็นกลอนสุภาพ สอนไม่ให้คบคนพาลและยกตัวอย่างวิธีคดโกงของคนพาลเกเรต่างๆนานาตามที่ปรากฏในยุคนั้น แต่ถ้อยคำสำนวนนั้น สังเกตว่าใช้ถ้อยคำสามัญอย่างที่พูดจากันทั่วไป แต่ในทางข้อบังคับบทกลอนนั้น ดูเหมือนจะไม่เอาใจใส่เท่าไรนักบางแห่งก็ขาดคำบางแห่งก็ขาดสัมผัสเป็นดังนี้ตลอดเล่มจนทำให้เจ้าหน้าที่บางท่านสงสัยว่าจะไม่ใช่สำนวนโวหารของท่าน ดังนั้นจึงควรชี้แจงความมุ่งหมายในการพิมพ์หนังสือไว้ด้วยดังนี้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังดังนี้ ท่านมีเกียรติคุณปรากฏแก่ประชาชนมากมาย แม้พระพิมพ์ที่ท่านสร้างไว้ซึ่งเรียกกันว่า “พระสมเด็จพุฒาจารย์” ราษฎรยังเอามานับถือเป็นเครื่องรางกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้อยู่จนทุกวันนี้ และปรากฏว่าท่านไม่ได้สั่งสมทรัพย์สมบัติเลยแม้แต่น้อย แต่มีปูชนียวัตถุที่ท่านได้สร้างไว้เป็นอนุสสาวรีย์ของท่านที่ยังปรากฏอยู่บัดนี้ก็หลายแห่ง เช่นตัวอย่างพระพุทธรูปใหญ่ที่วัดไชโยเมืองอ่างทองและพระยืนที่วัดบางขุนพรม (อินทรวิหาร) ที่สร้างค้างไว้เป็นต้น
ส่วนเกียรติคุณของท่านนั้น ราษฎรเล่าลือกันต่างๆนานา หวังว่าผู้อ่านคงจะทราบอยู่บ้างแล้ว ซึ่งถ้าจะรวมกล่าวย่อๆก็คือ ท่านไม่เอาใจใส่ในโลกธรรมเลย ข้อที่เกี่ยวกับหนังสือนี้ก็ดูเข้ากันได้ คือท่านไม่เอาใจใส่ในการติชมของใครๆเลย ดั่งตัวอย่างที่เล่าลือกันว่า ท่านไปเทศน์ที่บ้านท่านผู้มีบรรดาศักดิ์ผู้หนึ่ง เมื่อขึ้นธรรมาสน์ให้ศีลแล้วก็ว่า “นโม” สามหน และเทศน์ว่า “พายเถิดหนา พ่อพาย แม่พาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า” แล้วท่านก็บอกจบ เล่ากันว่ามีผู้ต่อว่าท่านว่าทำไมเทศน์สั้นๆเช่นนี้ ท่านตอบว่า “เท่านี้ก็พอแล้ว ขอให้ประพฤติให้ได้ครบบริบูรณ์เถิดพ่อเอ๋ย”
เพราะฉะนั้น หนังสือนี้ อาจจะเป็นจดหมายที่ท่านบันทึกไว้ เพื่อสั่งสอนศิษย์ของท่านก็ได้ กล่าวคือนึกอะไรได้ก็เขียนลงไปจะได้สัมผัสกันบ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่สะดวกของท่านมุ่งแต่จะสอนศิษย์เท่านั้น ไม่ต้องการจะได้รับชมทางกวีเลย
การพิมพ์หนังสือแจกเป็นที่ระลึกแก่ท่านทั้งหลายในการกุศลทอดกฐินพระราชทานนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมเกียรติคุณของท่านเจ้าของหนังสือนี้เป็นข้อใหญ่ แต่หากเกรงไปว่า เมื่อท่านเอาไปอ่านเห็นข้อบังคับบทกลอนคลาดเคลื่อนมากมายเช่นนี้ อาจจะทำให้เข้าใจเป็นทางประจารลบล้างเกียรติคุณของท่านก็ได้จึงจำเป็นต้องอธิบายไว้ยืดยาวในที่นี้ และคำอธิบายนี้ก็ต้องการเพียงชี้แจงความมุ่งหมายในการพิมพ์หนังสือนี้เท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงว่าหนังสือนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านแต่งจริงตามที่เขาบอกไว้หรือไม่นั้น ต้องแล้วแต่ท่านผู้อ่านจะวิจารณ์เอาเองอีกชั้นหนึ่ง และหวังว่าหนังสือนี้จะส่งเสริมความรู้ความพอใจแก่ผู้อ่านบ้างตามสมควร
ในโอกาสนี้ กรมศึกษาธิการ ขอขอบใจท่านทั้งหลาย บรรดาที่มีศรัทธาพร้อมใจกันมาอนุโมทนากฐิน ณ ที่นี้โดยทั่วกัน