ในการพระราชทานเพลิงศพ พระยาบุรีสราธิการ (โจ้ กนิษฐรัต) นี้ พระยศสุนทรได้นำความจำนงของสมาคมรัฐศาสน์และเจ้าภาพมาแจ้งว่าใคร่จะพิมพ์หนังสือแจกเป็นที่ระลึกสักเรื่องหนึ่ง หอสมุดแห่งชาติแนะนำให้พิมพ์พระราชปุจฉาภาคปกิรณกะนี้ พระราชปุจฉาที่พิมพ์อยู่ในภาคนี้ มีพระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๓ หนึ่งฉะบับ พร้อมทั้งคำแก้พระราชปุจฉา ของพระวินัยมุนี เป็นฉะบับที่ยังไม่ปรากฏว่าได้เคยพิมพ์ไว้ในที่ใด เพราะหอสมุดแห่งชาติเพิ่งได้ต้นฉะบับมา ในการพิมพ์คราวนี้ ได้นำเอาคำแก้พระราชปุจฉาอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งได้เคยพิมพ์แล้วอยู่ในพระราชปุจฉาภาคที่ ๔ มาลงไว้ด้วยเพื่อให้ครบ และได้รวบรวมพระราชปุจฉาเรื่องพิธีทำวิสาขบูชาในรัชกาลที่ ๒ และ พระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๖ มาพิมพ์รวมไว้ด้วย พระราชปุจฉาและคำถวายวิสัชชนาในหนังสือชุดพระราชปุจฉานั้น ย่อมเป็นหนึ่งสือที่ให้ประโยชน์ความรู้แก่นักอ่านนักศึกษาหลายสถาน เป็นต้นว่าได้ทราบตำนานตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อถือของคนในสมัยนั้นทางหนึ่ง ให้ความรู้ในทางอักษรศาสตร์ด้วยว่าพระราชปุจฉาบางเรื่อง แม้ตลอดจนคำถวายวิสัชชนานั้น บรรดาราชบัณฑิต และพระเถรานุเถระทั้งหลายต้องเรียบเรียงร้อยกรองถ้อยคำจนเห็นว่าไพเราะสละสลวย น่าอ่านน่าฟัง เช่น พระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๓ ที่พิมพ์ในภาคนี้เป็นต้น อีกทางหนึ่ง ถือกันว่าเป็นวิธีที่ให้ความรู้สืบอายุพระศาสนา ด้วยเหตุว่า ผู้วิสัชชนาต้องค้นคว้าหลักฐานมาอ้างประกอบความรู้อธิบายจนเห็นว่าถูกต้องแจ่มแจ้ง จึงนับว่าพระราชปุจฉา ย่อมให้ประโยชน์เกื้อกูลแก่ความรู้ โดยบริบูรณ์ ประเพณีพระราชปุจฉาของประบาทสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ประเพณีมีพระราชปุจฉา คือที่พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งถามข้ออัตถธรรมซึ่งทรงสงสัยให้พระราชาคณะแต่บางรูป หรือประชุมกันถวายวิสัชชนานี้ เข้าใจว่าจะมีมาแต่โบราณทีเดียว ส่วนประเทศอื่นยังไม่ได้พบหนังสือพระราชปุจฉา นอกจากความที่ปรากฎในพระสูตรว่ามีพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ไปทูลถามข้ออัตถธรรมแก่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กับหนังสือเรื่องมิลินทปัญหาซึ่งปรากฎว่าพระเจ้ามิลินท์ทรงซักไซ้พระนาคเสน ด้วยข้ออัตถธรรมต่างๆ เป็นอย่างวิจิตรพิสดารว่าในส่วนสยามประเทศนี้ ประเพณีพระราชปุจฉามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี มีหนังสือพระราชปุจฉา และข้อความที่พระสงฆ์ถวายวิสัชชนาปรากฎอยู่หลายเรื่อง มาถึงขั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ปรากฎว่ามีพระราชปุจฉาเมื่อรัชกาลที่ ๑ มากกว่ารัชกาลอื่นๆ แต่ที่หอพระสมุดรวบรวมฉะบับได้ถึง ๓๙ เรื่อง เหตุที่มีพระราชปุจฉาเมื่อรัชกาลที่ ๑ มากกว่ารัชกาลอื่นๆ นั้น ทรงเข้าใจว่าเป็นเพราะเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก พระไตรปิฎกและสงฆมณฑลเป็นอันตรายไปเสียมาก ในครั้งกรุงธนบุรีต้องเสาะแสวงพระไตรปิฎกและพระภิกษุซึ่งทรงธรรมวินัยแต่หัวเมืองใหญ่น้อย มารวบรวมเป็นหลักในฝ่ายพระพุทธจักรขึ้นใหม่ หนังสือพระไตรปิฎกก็ดี ความรอบรู้พระธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นพระราชาคณะขึ้นชั้นใหม่ก็ดี ยังบกพร่องอยู่มาก จึงต้องทรงขวนขวายทำนุบำรุงพระพุทธจักรซึ่งเศร้าหมองด้วยเหตุดังกล่าวมา ในส่วนคัมภีร์พระธรรมวินัยทรงพยายามทำสังคายนา และสร้างพระไตรปิฎกขึ้นทั้งฉะบับหลวง และพระราชทานอนุญาตให้ลอกคัดไปไว้สำหรับพระภิกษุสงฆ์เล่าเรียนในพระอารามทั้งปวงอีกหลายฉะบับ คงเกิดแต่มีพระราชประสงค์จะให้พระราชาคณะเอาใจใส่ตรวจตราพระไตรปิฎกให้มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย จึงได้มีพระราชปุจฉาในข้ออัตธรรมต่างๆ ให้พระราชาคณะถวายวิสัชชนา เพราะการที่จะถวายวิสัชชนา จำต้องค้นหาหลักเป็นที่อ่างในคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งรวบรวมอยู่ในพระไตรปิฎก และจำต้องเอาใจใส่อ่านพระไตรปิฎกจึงจะถวายวิสัชชนาได้สะดวก ถ้าไม่มีพระราชปุจฉา พระราชาคณะก็จะอ่านพระไตรปิฎกน้อยลง จึงได้มีพระราชปุจฉาย่อยๆ ดังนี้” พระราชปุจฉาในรัชกาลต่างๆ จะมีอยู่มากน้อยสักเพียงไร ในรัชกาลไหนมีจำนวนเท่าใด เป็นอันทราบจำนวนแน่ไม่ได้ เพราะฉะบับกระจัดกระจายกันอยู่ หอสมุดแห่งชาติได้รวบรวมหาได้มาแค่ที่ต่างๆ รวมทั้งที่ได้พิมพ์แล้ว และที่พิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มนี้เป็นจำนวน ๗๑ พระราชปุจฉา ดังได้ย่อเรื่องทั้งหมดพิมพ์ต่อไว้ข้างท้าย เพื่อประโยชน์แก่นักศึกษา จะได้สอบค้นหาดูหัวข้อเรื่องได้สะดวกขึ้น อนึ่งเจ้าภาพได้เรียงประวัติพระยาบุรีสราธิการส่งมา และได้ให้พิมพ์ไว้เป็นที่ระลึกต่อท้ายคำนำนี้ ขออนุโมทนากุศลบุญราศี ธรรมวิทยาทาน ซึ่งเจ้าภาพได้บำเพ็ญเนื่องในการทักษิณานุปทานกิจนี้ จงสัมฤทธิมนุญผลแก่พระยาบุรีสราธิการ (โจ้ กนิษฐรัต) ตามสมควรแก่ฐานนิยมเทอญ.
< หน้าหลัก / หนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์ / ประชุมพระราชปุจฉา ภาคปกิรณกะ >
ประชุมพระราชปุจฉา ภาคปกิรณกะ
เนื้อหาอย่างย่อ
หมวด: หนังสือหายาก
หมวดรอง: -
วันที่รับเข้า: 27/03/2018